08 ตุลาคม, 2552

ทำตัวให้เหมือนบัวพ้นน้ำ

เรื่องนี้เป็น ส.ค.ส จากพี่ชาย อ่านเท่าไหร่ก็ไม่เบื่อคะ เห็นภาพชัด รู้สึกเหมือนได้นั่งฟังธรรมะ จึงพิมพ์คัดลอกมาให้อ่านคะ
ส.ค.ส. 2552
ทำตัวให้เหมือนบัวพ้นน้ำ พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ)
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย..............
ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ นั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่งซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงชัดเจน แล้วจงตั้งอกตั้งใจฟังให้ดีเพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากาการฟัง ตามสมควรแก่เวลา
วันนี้เป็นวันต้นเดือน เมื่อเช้าไปออกโทรทัศน์ ปาฐกถาให้ญาติโยมฟังกัน เขาจัดดอกบัวเอาไว้บนโต๊ะที่นั่งปาฐกถา เลยพูดเรื่อง ดอกบัวให้คนฟัง พูดให้รู้ว่า ดอกบัว นี่เป็นดอกไม้ตัวอย่างแห่งความสะอาดเพราะดอกบัวนี่เกิดจากต้นบัว กอบัวนี่เกิดในโคลนสกปรก ในน้ำสกปรกแต่ดอกบัวโผล่พ้นน้ำขึ้นมาได้ เป็นดอกไม้สะอาด สีสวย แต่ไม่มีกลิ่น ดอกไม้บางอย่างสีสวยแต่ไม่มีกลิ่น บางอย่างสีสวยด้วยมีกลิ่นด้วย เช่น ดอกกุหลาบมีกลิ่นหอม ดอกมะลิมีกลิ่นหอม สารภีมีกลิ่นหอม พิกุลก็มีกลิ่นหอม แต่ดอกบัวนั้นเป็นดอกไม้ที่ไม่มีกลิ่น มีสีดี ผิดกับดอกไม้อื่นซึ่งเกิดอยู่บนต้นไม้สูงๆ ดอกบัวนั้นเกิดในน้ำ ในโคลน แต่ก็ไม่เปื้อนด้วยโคลนด้วยตม เป็นดอกไม้ที่สะอาดปราศจากโทษ
พระพุทธเจ้าท่านมองดูสัตว์โลก พระองค์ก็เปรียบคนเหมือนกับดอกบัว คือคนเรานั้นมี 4 จำพวก 4 ระดับคือ พวกที่ใครพูดอะไรปั๊บ เข้าใจทันที มีอยู่
พวกที่จะต้องอธิบาย จึงจะเข้าใจ มีอยู่
พวกที่พอจูงไปได้ในทางที่ถูกที่ชอบ ก็มีอยู่
พวกที่ดึงไม่ไหว พวกดอกบัวเน่า เป็นเหยื่อเต่าเหยื่อปลาเน่าอยู่น้ำ ไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นมารับแสงอาทิตย์ มันก็มีอยู่เหมือนกัน
คนเราก็เป็นอย่างนั้น เปรียบได้กับดอกบัวในสภาพต่างๆ คือ
ดอกบัวเสมอน้ำ พร้อมที่จะบานรับแสงอาทิตย์ เหมือนญาติโยมทั้งหลายที่มาวัดชลประทานฯ ทุกวันอาทิตย์นี่ เรียกว่า ดอกบัวเสมอน้ำ พออาทิตย์ส่อง ก็บานรับแสงอาทิตย์ทันที
ดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ จะบานในวันต่อไป หมายถึงคนที่เตรียมจะมาๆ ไม่ได้มาสักที พอเจอหน้าก็ว่า น่าจะไปไม่ได้ไปสักที นี่เรียกว่าดอกบัวใต้น้ำ แต่ว่าเตรียมตัวอยู่ เตรียมจะบาน แต่ไม่ได้บานสักที
มีดอกบัวชนิดหนึ่งนั้น พอพูดชักจูงมาได้
ส่วนดอกบัวอีกชนิดหนึ่งนั้นจมน้ำตายเน่า เป็นเหยื่อเต่า
ที่พระองค์เปรียบว่า เน่าเป็นเหยื่อเต่า นี้เป็นความจริง ที่สระหน้าวัดนี้เมื่อก่อนมีผักตบมาก ให้เด็กพัฒนา เอาผักตบขึ้นหมดแล้วก็คอยตรวจ พอโผล่ขึ้นมาก็คอยเก็บ เดี๋ยวนี้ไม่มี แต่มาอยู่ในหนองข้างหลังหนองหน้าวัดไม่มี ปลาชุม เดี๋ยวผุดๆ ปลามันผุดบ่อยๆ เหมือนกับเรียกแหเรียกอวนมาหา คนจะได้รู้ว่าหนองนี้มีปลามาก แล้วก็จะมาตกเบ็ด นี่แหละที่ว่าปลาตายเพราะปลาก มันจะตายก็เพราะปากที่ผุดขึ้นมานั่นเองพ่นน้ำขึ้นมาทีไรคนรู้ บ้วนมาทีไรคนรู้ ตัวเล็กบ้วนน้อยๆ ตัวใหญ่..ตู้ม! ดังอย่างนั้น ดังให้คนได้ยินว่า .. กูอยู่นี่.. แล้วเขาจะได้เอาแหอวนมาจับไป
เมื่อก่อนดอกบัวเต็มสระ สวย หลากสี มีโยมเอามาปลูกไว้มันอยู่ได้หลายปี แต่พอผักตบขึ้นนี่ บัวตายหมด พอนึกว่าปลูกใหม่ก็หาพันธุ์บัวมาปลูก เอาไผ่ปักกดมนไว้ ปลูกไว้ ไม่เห็นขึ้นสักต้นเดียวก็ไม่รู้ว่าไม่ขึ้นเพราะอะไร เพราะมีต้นหนึ่งหลุดลอยมาใกล้กุฏิ เต่าหลายตัวมารุมกันกินต้นบัวต้นนั้น ที่ขึ้นไม่ได้เพราะเต่ากินนี่เอง ก็นึกถึงคำเปรียบของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ดอกบัวเน่าเป็นเหยื่อเต่าเหยื่อปลา จริงทีเดียวเตามันกินหมด
แล้วก็มีคนอยากจะมีอายุยืน ชอบเอาเต่ามาปล่อยในสระน้ำ เต่าก็ตัวโตๆ วันนั้นฝนตก ตัวขนาดอย่างนี้(ทำมือประกอบ)คลานต้วมเตี้ยมๆขึ้นมาหน้ากุฏิ อาตมาเห็นก็ว่า “มันเรื่องอะไร ขึ้นมาทำไม เดี๋ยวใครก็เอาไปต้มเสียเท่านั้นเอง” เหมือนกับมันได้ยิน พอว่าอย่างนั้น ถอยหลังกลับคลานลงน้ำต่อไป มันก็พอสอนได้นะไอ้เต่าตัวนั้น เรียกว่าเป็นเวไนยเหมือนกัน พอเตือนได้ เลยลงน้ำไป คนที่ชอบปล่อยเต่านี่ ชอบเอามาปล่อยตามวัด บางแห่งนั้นเต่าทรมานเหลือเกิน เช่นที่สระวัดเบญจฯ คูเขาทำไว้ดี จุดหมายเพื่อให้มีน้ำ พระจะได้อาบได้ใช้ สมัยก่อนน้ำระบายเข้าออกได้ เดี๋ยวนี้ไม่มีการระบายเข้าออก เต่ามาอยู่กันหนาแน่น เรียกว่าพลเมืองเต่ามากเหลือเกินในคูนั้น...แน่น แล้วก็เต่าสกปรกไม่สะอาดอยู่กันอย่างลำบากเดือดร้อน ทรมาน คนก็ยังเอามาเพิ่มจำนวนเข้าไปอีก ทั้งๆ ที่เต่าลำบากแล้ว ทำไม่เขาจึงเอามาปล่อยที่วัด มันปลอดภัย ถ้าปล่อยที่อื่นเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย ความจริงปล่อยในแม่น้ำมันก็ปลอดภัยเหมือนกันแหละ เว้นไว้แต่มันหาเรื่องไปหาหม้อแกงเอง มันเที่ยวขึ้นมา เขาก็จับเอาไปเท่านั้นเอง
ปล่อยเต่าให้อายุยื่นนี่ ยังไม่ดี ต้องปล่อยเต่าให้หมดความโง่ด้วยจึงจะดี เพราะเต่านี่คือตัวโง่ เขาจึงพูดว่า โง่เหมือนเต่า
คนโบราณเขาเขียนภาพวัว คนที่ขี่หลังวัว แบกเต่าไว้ตัวหนึ่ง เรียกว่า โง่สองชั้น นั่งบนหลังวัวแล้วยังแบกเต่าอีรก เรียกว่า เป็นความโง่สองชั้นก็เปรียบว่าเต่านี้คือความโง่ ความไม่รู้อะไร โง่เหมือนเต่า
เต่านี่มันโง่ ทีนี้ เมื่อเราเอาเต่าไปปล่อย ก็อย่าปล่อยแต่เต่า แต่ว่าควรปล่อยความโง่ที่มีอยู่ในตัวเสียบ้าง เวลาจะปล่อยเต่าก็ไปนั่งพิจารณาที่ริมสระน้ำ พิจารณาว่าโง่ในตัวข้าพเจ้านี่มีอะไรบ้าง ความโง่ความงมงาย ความหลงผิด ความเข้าใจผิด เที่ยวเชื่ออะไรไม่เข้าเรื่อง ก็คิดว่าควรจะปล่อยไปกับเต่านี้เสียด้วย บอกว่า”เอาไปด้วยนะ ความโง่ของข้า ที่ข้าเที่ยวหลงเชื่ออะไรต่ออะไร หลงไหว้อะไรต่ออะไร ไม่เข้าเรื่องเข้าราวมานานแล้ว ยังไม่ยอมฉลาดสักที วันนี้ขอปล่อยเต่าสักทีเถอะ” เลยเอาความโง่ฝากเต่าไป เต่าก็จะลงน้ำต่อไป ความโง่ของเราก็จมน้ำไปเสียด้วย เราก็จะมีอะไรดีขึ้น อย่ามุ่งแต่เพียงอายุยืน
อายุยืนไม่ใช่ดี ลองไปดูคนแก่ที่แก่มากๆ อยากจะตายวันละหลายๆหน แต่มันก็ไม่ตายสักที แสดงว่าอายุยืนนี่ไม่ดีหรอก อยู่ไปตามเรื่อง อย่าให้มันยืนเกินไป สุดแล้วแต่...ดีว่า สุดแล้วแต่ธรรมชาติจะอยู่ไปได้เท่าไหร่ เราก็อยู่ไปเท่านั้นแหละ
ดอกบัวนี่เป็นดอกไม้สะอาด เขาจึงปลูกไว้ตามหน้าวัดก็เพื่อจะเป็นบทเรียน สอนคนที่ไปวัด เป็นบทเรียนสำหรับคนที่อยู่ในวัดด้วย ให้ดูดอกบัวเป็นตัวอย่าง แล้วจะได้ทำใจให้สะอาด ปราศจากโทษที่มันจะทำให้ใจเศร้าหมอง อย่างนี้เป็นประโยชน์ เขาจึงชอบปลูกไว้ตามบริเวณวัดในวัดโดยมากเข้าปลูกดอกบัวหลวง ส่วนมากเป็นดอกบัวหลวงสีชมพู สีเขียวนี่มีน้อย แต่เดี๋ยวนี้ก็มีแพร่หลาย ปลูกไว้เป็นเครื่องเตือนใจจะได้เก็บดอกบัวไปบูชาพระด้วย
พระพุทธเจ้านั่งบนแท่นมีดอกบัว ก็เพราะว่าดอกบัวนี่เป็นดอกไม้สะอาด เอาประดับแท่นฐานที่นั่งของพระพุทธเจ้า เป็นเครื่องหมายว่าพระพุทธองค์ทรงนั่งอยู่บนความสะอาด ความสว่าง ความสงบ ของใจไม่ได้นั่งอยู่บนความแปดเปื้อน ความมืด ความเร่าร้อน แต่นั่งอยู่บนความสะอาด สว่าง สงบ
เราเห็นดอกบัวที่ฐานพระ เราต้องนึกว่า อ้อ..นี่เขาทำถูกทำเป็นแท่นดอกบัวรองรับพระพุทธเจ้า เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจคนที่ได้พบได้เห็น ว่า พระพุทธเจ้านั้นท่านมีน้ำพระทัยสะอาด มีน้ำพระทัยสว่าง มีน้ำพระทัยสงบ เราก็ควรจะทำใจเรา ให้สะอาด ให้สว่าง ให้สงบด้วย
ใจสะอาด ใจสว่าง ใจสงบนั้นเป็นจุดหมายของการปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนา ดอกบัวนั่นเป็นเครื่องเตือนใจ ให้เราได้คิดในรูปอย่างนี้ แล้วเราก็ควรจะทำใจประดุจดอกบัว
รูปหัวใจคนนี้ก็เป็นรูปดอกบัวเหมือนกัน รูปหัวใจถ้าเราวาดรูปมันก็เหมือนดอกบัว แต่เอาปลายลงมันเรียวลงไปข้างล่าง ข้างบนกว้าง ดอกบัวคว่ำ ไม่ใช่ดอกบัวที่ชูขึ้นอย่างนั้น เป็นรูปดอกบัวคว่ำลงไป เราก็ควรจะทำใจของเรา ให้เป็นดอกบัวอยู่เสมอ การที่จะทำใสให้เหมือนกับดอกบัวนั้น ก็ต้องรู้ว่าใจเราเปื้อนเพราะอะไร นี่ต้องเรียนต้องรู้ ต้องศึกษาเรื่องธรรมะในพระพุทธศาสนา ที่สอนไว้ละเอียดลออ ในเรื่องอย่างนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ
ธรรมชาติของใจนั้น เป็นธรรมชาติที่สะอาดอยู่โดยปกติ คือ ปกติของใจที่ยังไม่ได้รับอะไรนี่มันสะอาดอยู่ แล้วก็สงบอยู่ สว่างด้วยปัญญาเหมือนกัน เมื่อยังไม่ได้พบอะไรนี่ คล้ายๆ กับตัวแมงมุมตัวใหญ่ๆ ที่เราจะเห็นได้ในป่า อยู่ในกรุงนี้ไม่ค่อยได้เห็น แต่อยู่ป่านี่จะเห็นว่า ไอ้ตัวแมงมุมนี่มันขึงตาข่ายของมัน เส้นใยที่มันเอามาขึงนี่ ไม่ใช่เล็กๆ นะ คิดเป็นตารางเมตรนี่เป็นสิบตารางเมตร ที่มนขึงออกไปรอบบริเวณ ขึงไปรอบ แผ่รัศมีออกไปเป็นวงกลมวงรอบ แล้วตัวมันก็มาเกาะอยู่ที่ตรงกลาง เกาะอยู่ด้วยอาการอันสงบนิ่ง ไม่ใช่หลับ แต่ว่ามีสติอยู่ตลอดเวลา มันเกาะอยู่ด้วยความมีสติ คอยจ้องดูว่า สายใยที่ขึงนี่กระเทือนตรงไหนด้านไหน สมมติมีตัวแมลงอะไรบินมา กระทบสาย สายมันก็กระเทือนเข้าไปถึงจุดกลาง พอถึงจุดกลางมันรู้ว่าด้านนี้ มันก็พุ่งปร๊าดออกไปเลย ไปถึงก็จับตัวแมลงตัวนั้น พ่นพิษใส่ มันมียาพิษที่จะทำให้แมลงสลบ ถึงแก่ความตาย เรียกว่าสลบไปก่อนพอสลบแล้วมันก็พามาที่ตรงกลาง เอามาวางไว้ แล้วมันก็เจาระดูดเอาอาหารในตัวสัตว์นั้น เอาเลือดเอาอะไรในตัวสัตว์นั้นมากินจนเหลืออยู่แต่โครง เราจะไปพบว่ามันมีโครงโปร่งๆ เหลืออยู่ ข้างในมันกินหมดแล้ว เมื่อกินแล้วมันก็นอนสงบอยู่ต่อไป ถ้ากระเทือนด้านไหนก็ไปต่อไป นี่คือ เรดาร์นั่นเอง มนุษย์ทำเรดาร์นี่ก็เอาอย่างสัตว์นั่นเอง สัตว์มันเป็นครู เป็นบทเรียน ก็ทำเรดาร์ดักคลื่นเสียงจากที่ต่างๆ จับคลื่นเสียงได้ เราไม่ได้เอาอะไรมากิน เราเอาแต่คลื่นเสียง คอยจับคอยดัก ก็เหมือนแมงมุมทำอย่างนั้น
สภาพจิตของคนเรานี่ก็คล้ายกัน คือว่าสงบนิ่งอยู่ไม่มีอะไรมายั่วก็อยู่ในสภาพสงบ ทีนี้ทางยั่วของสิ่งที่มากระทบนั้นมันมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกายประสาท ใจน่ะ เป็นจุดอยู่ตรงกลาง การรับรู้อยู่ที่ใจ สิ่งห้าอย่างนี้เป็นช่องทางเข้ามา ตาก็นำรูปเข้ามา หูก็นำเสียงเข้ามา จมูกนำกลิ่นเข้ามา ลิ้นก็นำรสเข้ามา กายก็นำสิ่งที่กระทบกาย ภาษาเทคนิคทางด้านธรรมะเขาเรียกว่า โผฏฐัพพะมากระทบร่างกาย พบประสาทกาย, อะไรมากระทบ เรารู้ทันที รู้ว่า เย็น ว่าร้อน อ่อน แข็ง หรือว่าอะไร กระทบ เรารู้ มดกัดเรารู้ ผิวหนังกระทบอะไร ก็รู้ มีประสาทโยงใยไปทั่วร่างกายแล้วก็มารู้อยู่ที่สมอง
ตัวรู้มันอยู่ที่สมอง เป็นผู้สั่งงานอยู่ที่ตรงนั้น เรียกว่า ใจ หัวใจมีหน้าที่สูบฉีดโลหิต ไปเลี้ยงร่างกายเท่านั้นเอง แต่ว่าการรับรู้มันอยู่ที่สมองโยงใยมันอยู่ตรงนั้น ถ้าสมองพิการบางส่วน ก็เป็นอัมพาต เช่น คนเป็นอัมพาตครึ่งตัว ก็แสดงว่าสมองส่วนนั่นสั่งงานไม่ได้ มันพิกลพิการไปเสียแล้ว ร่างกายไม่เคลื่อนไหว ไม่กระดุกระดิก เพราะว่าสมองไม่ทำงานคือไม่สั่ง แล้วก็เป็นอัมพาต ถ้าหากว่าไม่สั่งหมดทุกส่วน ก็นอนนิ่งดุจท่อนไม้ท่อนฟืน สักแต่ว่าหายใจเข้าออกไม่รับรู้อะไรแล้ว รูปกระทบตาก็ไม่รู้ เสียงเข้าหูก็ไม่รู้ กลิ่นเข้าจมูกก็ไม่รู้ ไม่รับทั้งหมด สมองไม่ทำงานเรียกว่านอนแข็งทื่อดุจท่อนฟืน ก็ต้องคอยป้อนอาหารกันไป เลี้ยงกันไปตามเรื่อง เลี้ยงกันหลายๆปีเหมือนกัน คนเจ็บไม่ทรมาน เพราะไม่มีความรู้สึกอะไรแต่คนเลี้ยงนี่ทรมาน เหมือนลูกสาวของท่านนายพันทหารท่านหนึ่ง นอนเฉย คุณแม่ก็เช็ดเนื้อเช็ดตัวให้สะอาดเรียบร้อยเรียกว่าไม่ได้ไปไหนกับเขาเสียเลย คุณแม่น่ะนั่งเผ้าลูกสาวที่นอนเฉยๆ เป็นเจ้าหญิงนิทรานั่นแหละ คนเขารู้ข่าว ช่วยกันทั่วโลก คนในเมืองไทยนี่ หลวงพ่อองค์ไหนศักดิ์สิทธิ์มีฤทธิ์เดช อาสาทั้งนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็ “นิมนต์ตามชอบใจ” คือปล่อยให้ทำกัน เอามาทำพิธี ปลุกเสกกันไปเป่ากันไป สามวันไม่ได้ท่า เจริญพรลากลับวัดไป หมอชาวบ้านก็มาอาสามาช่วยกันทำ ทำเท่าใดก็ไม่สำเร็จ ก็ลากลับไป ในต่างประเทศยังอุตส่าห์ส่งจดหมาย ส่งหนังสือมาให้อ่าน อ่านอะไร...ไม่รู้เรื่องแล้ว พวกคริสเตียนนิกายต่างๆ อุตส่าห์ส่งมาให้ ขอพรต่อพระผู้เป็นเจ้า ให้ช่วยคุ้มครองรักษา
อาตมาคุ้นเคยกับครอบครัวนี้ไปเยี่ยม เอามาให้ดู นี่จดหมายจากประเทศอเมริกา จากอังกฤษ จากไหนต่อไหน มากมายก่ายกองเอมาช่วยให้ฟื้น ให้พูดได้ ลุกขึ้นได้ แต่ไม่มีทาง นอนเฉย ไม่ยิ้มไม่หัว ตาก็มอง แต่ว่าไม่แสดงอาการอะไร นี่คือ ความเสื่อมทางสมอง เพราะมีโรคภัยไข้เจ็บบางอย่างเข้าไปเบียดเบียน ไม่รู้ว่ามันคืออะไร หมอก็ค้นไม่พบเหมือนกัน หมอเองก็ไม่ใช่จะรู้ไปหมดทุกอย่าง หมองเองก็เป็นเหมือนกัน หมอบางคนก็เป็นโรคอย่างนี้ นอนอยู่อย่างนั้น ไม่ตายสักทีนอนทรมานอยู่หลายๆวัน นี่ก็เป็นไปได้ เพราะโรคนี้ไม่ได้เลือกว่าคนนั้นเป็นหมออย่าเป็นเลย คนนี้เป็นนายแบ๊งค์อย่าเป็นเลย คนนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีเอาไว้ดูเล่นก่อน อย่าเป็นเลย เปล่า...โรคไม่มีการเลือกเฟ้นอย่างนั้น ให้แก่คนทุกคน เป็นเท่าเทียมกัน
เราจึงพูดว่า สัตว์ทั้งหลาย เกิด - แก่ – เจ็บ - ตายเหมือนกัน เกิดเหมือนกัน แก่เหมือนกัน เจ็บเหมือนกัน ตายมันก็เหมือนกัน มีสภาพเท่าเทียมกันทั้งนั้น หนีไม่พ้น และเราไม่รู้ด้วยนะ ว่าเราจะเป็นโรคอะไรเมื่อไหร่ ร่างกายแข็งแรงอยู่ดีๆ ปุ๊บปั๊บขึ้นมา ไม่ได้เรื่องแล้ว เป็นอะไรไปแล้ว มันเป้นอย่างนี้ก็มี เป็นง่ายๆ ตายง่ายๆ
มีแม่บ้านคนหนึ่ง สามีแกตายด้วยโรคหัวใจ แกบอกว่า เขาก็อยู่ดีๆ ทำงานทำการเป็นคนเรียบร้อย แล้วทำไม่จึงมาตายอย่างนี้
“เรื่องตายมันเป็นอย่างนี้แหละ ธรรมดา คนเราไม่รู้จะตายวันไหนและด้วยโรคอะไร มันอาจจะเป็นขึ้นเมื่อใดก็ได้ เพราะชีวิตนี้ไม่เที่ยง มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มันจะไปที่สุดที่ไหนก็ไม่รู้” อธิบายให้ฟัง ก็ต้องพูดกันหลายๆวัน มาบ่อย เศร้าโศกเสียใจ ถามโน่นถามนี่ เลยตัดบทว่า “อย่าไปถามเป็นกังวลสำหรับคนตายต่อไปเลย มาคุยกันเรื่องจะอยู่ดีกว่า จะอยู่อย่างไร จะดำเนินงานต่อไปอย่างไร จะเลี้ยงลูกอย่างไร เพื่อให้ลูกเติบโตขึ้นให้มีคุณภาพมีประโยชน์แก่ครอบครัวแก่ประเทศชาติต่อไป คิดเรื่องอย่างนี้เถอะเรื่องตายนี่ไม่ต้องคิดมากแล้ว เพราะว่าเขาตายไปแล้ว จะไปกังวลอะไร เราควรมาคิดว่าจะอยู่อย่างไร จึงจะมีความสงบจิตใจตามสมควรแก่ฐานะดีกว่า” อธิบายให้ฟังอย่างนั้น ก็ค่อยๆ ผ่อนไปคลายไป ฉลาดขึ้น รู้เรื่องขึ้น ว่าอะไรเป็นอะไร
สภาพจิตใจคนเรานี่โดยปกติมันก็ไม่มีอะไร แต่มันมีอะไรขึ้นก็เพราะว่าสิ่งทั้งหลายที่เข้ามากระทบ รูปมากระทบตา เสียงกระทบหู กลิ่นกระทบจมูก รสกระทบลิ้น กายถูกต้องโผฏฐัพพะ ก็เกิดอารมณ์ขึ้นในจิตใจ เกิดความรู้สึก เรียกว่าเวทนา เกิดความรู้สึกขึ้นในใจ ชอบใจ ไม่ชอบใจ เฉยๆ พอมีความรู้สึกขึ้นมาแล้ว ก็ปรุงต่อไป ชอบใจก็อยากได้ อยากเอามาเป็นของตัว ถ้าความชอบมีมาก็อยากได้ไวๆ ใจร้อนใจเร็ว หุนหันพลันแล่น ถ้าสิ่งที่อยากจะได้นั้น มีใครมาขัดขวางไม่ให้ได้สมใจ ก็เกิดความโกรธ เกิดความเกลียดบุคคลนั้น หมั่นไส้คนที่เขามาขัดขวางความต้องการของเรา ถ้าไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ ไม่บังคับตัวเอง มีอะไรอยู่ใกล้ก็อาจจะประหัตประหารคนนั้นก็ได้ มีปืนอยู่ใกล้ก็จะยิงกัน
ดูข่าวที่เขายิงๆ กัน บางทีเรื่องมันไม่มากอะไร แต่ว่ายิงกันตายเพราะว่ามันเกิดอารมณ์ขึ้นมา เกิดอารมณ์โกรธขึ้นมา แล้วก็มีเครื่องประกอบที่จะช่วยให้สำเร็จตามความต้องการของความโกรธ มีปืนอยู่ใกล้ก็เอาปืนยิงเปรี้ยงเข้าให้ มีมีดก็แทงเข้าให้ มีไม้กระบองก็ทุบลงไปบนกระบาล อย่างนี้ มันเกิดขึ้นอย่างนั้น ใจมันตกไปสู่อำนาจของกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้เศร้าหมอง ทำให้มืดมัวไป เหมือนท้องฟ้ามัวอยู่ในเวลานี้มองไม่เห็นแสงอาทิตย์ มันมีแสง แต่ว่าเรามองไม่เห็น เพราะว่ามันส่องฝ่าความมืดลงมาไม่ชัด แต่มันจ้าอยู่ข้างบน ถ้าเราขึ้นเรือบิน บินให้สูงพ้นไอ้สิ่งที่ลอยอยู่นี้ เรือบินพ้นหมู่เมฆเหล่านี้ ขึ้นไปข้างบน มันสว่างแต่พอมองลงมาข้างล่าง มันก็มืดบอดไป อย่างนี้
ในของเราก็เป็นอย่างนั้น พอเกิดอะไรขึ้นมาหุ้มใจแล้ว มองอะไรไม่ชัด เห็นว่าอะไรมาครอบงำเรา ความโกรธครอบงำก็ทำตามอำนาจความโกรธ, ความเกลียดครอบงำ ทำตามอำนาจความเกลียด, คามริษยาครอบงำ ทำตามอำนาจความริษยา ,ความรักครอบงำก็ทำไปตามอำนาจความรักความพอใจ มันเป็นเหตุให้ทำความชั่วได้ทั้งนั้น คนทำชั่วเพราะรักก็มี ทำชั่วเพราะเกลียดก็มี ทำชั่วเพราะโกรธก็มี ทำชั่วเพราะความริษยาก็มี ทำชั่วเพราะความพยาบาทเจ็บใจในบุคคลก็มี อันนี้ใจของเรามันเปลี่ยนสภาพไป ไม่อยู่กันร่องกับรอย ไม่เป็นตัวเดิม
หน้าตาดั้งเดิม แต่ถูกฉาบด้วยสีหลายอย่างหลายประการ เหมือนกับตัวละครที่แต้มหน้าแต้มตาออกไปแสดง แต่งหน้ายักษ์ แต่งหน้าเป็นคนแก่ คนที่ไม่แก่ เขาแต่งให้แก่ได้ ออกมาแล้วผมเผ้าแก่ไปประปรายผิวหน้าก็ทำให้เป็นริ้วเป็นรอยเป็นอะไรไป ดูเป็นคนแก่ได้ แล้วก็ทำท่าทางเห็นคนแก่ไปด้วย เปล่งเสียงเป็นคนแก่ไปด้วย นี่เรียกว่า ปรุงแต่ง
ใจเราก็ถูกปรุงแต่งด้วยสิ่งเหล่านั้น ถูกแต่งด้วยความรัก ถูกแต่งด้วยความชัง ถูกแต่งด้วยความโกรธ ความเกลียด ความพยาบาท อาฆาต จองเวร เก็บไว้ในใจ หรือว่ามีความรู้สึกแข่งดีกับคนนั้น มีมานะ มีถือตัว..ข้าไม่ยอมใคร...นี่เรียกว่าถูกปรุงแต่งทั้งนั้น
ใจที่ถูกปรุงแต่งอย่างนี้มนก็เกิดความมืดบอดขึ้นมา เศร้าหมองเหมือนกันกับสิ่งที่สะอาด เอามาวางไว้บนโต๊ะ วางไว้หลายวัน ก็ค่อยสกปรกขึ้นทีละน้อยๆ ขี้ฝุ่นมาจับ จับนานๆ เข้าดูหนาเตอะ กลายเป็นสิ่งสกปรกไป แต่ถ้าเอาไปล้าง มันก็สะอาดขึ้นใหม่ เราจึงต้องกวาดบ้าน ต้องซักผ้าเสื้อผ้า ต้องอาบน้ำ ต้องเช็ดถูสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่ตลอดเวลา วัตถุภายนอกนี่เรารักษานักหนา ปัดกวาดเช็ดถูทำความสะอาดกันอย่างดีเลย แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่ควรทำความสะอาด เราไม่ค่อยได้ทำมักจะละเลยเพิกเฉย ไม่สนใจที่จะจัดการกับสิ่งเหล่านั้น สิ่งนั้นก็คือใจของเรานี้เอง
เราไม่ค่อยจะได้ทำความสะอาดใจของเรา ไม่ได้ทำความสะอาดมันก็หมักหมาสกปรกขึ้นทุกวันเวลา ทำให้เกิดความเสียหาย ความหมักหมมของสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในใจของเรานั้น เรียกว่า “สันดาน” นั้นเอง ที่เราพูดว่า สันดานมันเป็นอย่างนั้นเอง ความจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น เดิมมันไม่ได้มีอย่างนั้น แต่ว่าสะสมบ่อยๆ เก็บไว้บ่อยๆ ในเรื่องนั้น เก็บขยะไว้ในบ้าน บ้านมันก็เต็มไปด้วยขยะ เก็บทองไว้มันก็เต็มไปด้วยทอง เก็บเสื้อผ้ามันก็เต็มด้วยเสื้อผ้า เก็บเพชรนิลจินดามันก็เต็มไปด้วยเพชรนิลจินดา ในเรานี้มันก็เหมือนกัน เราเก็บอะไร...เราเก็บความโกรธ ใจเราก็มากไปด้วยความโกรธ เก็บความริษยา ใจก็มากไปด้วยความริษยา เก็บความหลง ในก็มากไปด้วยความหลง เห็บความมานะถือตัว ใจก็เป็นคนมานะถือตัว ...ข้ามันก็หนึ่งเหมือนกัน...ไปไนเป็นลดไม่ได้ไม่ลงให้ใคร หนึ่งตลอดเวลา นี่เก็บสิ่งเหล่านี้ ก็เลยมีนิสัยอย่างนั้น มีสันดานอย่างนั้น
เมื่อเช้านี้มีคนๆหนึ่งมาจากาญจนบุรี เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนอาชีวะ พยายามทำงานด้วยความตั้งใจ โรงเรียนเมื่อก่อนนี้เนื้อที่มันน้อยมีเพียง 4 ไร่ ก็เที่ยววิ่งขอเขา กราบเขา วิงวอนเขา เพราะตัวเป็นผู้หญิงขอนั่นขอนี่ เที่ยวกราบเที่ยวกรานเขาจนได้เพิ่มขึ้นเป็น 14 ไร่เมื่อก่อนนี้ก็มีโรงเรียนมุงจาก มุงหญ้าคา เรียนกันไปตามเรื่อง ก็วิ่งเต้น พยายามจนได้อาคารขึ้นมาเรียบร้อย ทำอะไรดี ก้าวหน้า ชาวบ้านก็ร่วมมือ ไปขออะไรเขาก็ให้ ทำทุกอย่างเขาก็ให้ทั้งนั้นแหละ
แต่ว่ามีคนประเภทหนึ่งสันดานไม่ชอบคนทำดี ไม่ส่งเสริมความดีของคน ไม่อยากเห็นใครดี คอยที่จะว่าเขาตลอดเวลา คือคนประเภทหนังสือพิมพ์ที่ออกในท้องถิ่น มีอยู่ฉบับหนึ่งหาเรื่องติอาจารย์นั้นทุกวันเพื่ออะไร...เขาบอกว่าต้องไปพบกับเขา ไปแถลงความจริงกับเขา เขาจึงจะไม่ลง ถ้าไม่ไปกา เขาก็จะเขียนอยู่อย่างนั้น ด่าอยู่อย่างนั้น ด่าที่นั่นไม่พอ ยังส่งมาลงหนังสือพิมพ์ที่กรุงเทพฯ ที่ชอบด่าคน ร่วมวงศ์ไพบูลย์ ด่าเรื่อยไป คอยยุคอยแหย่ให้นักเรียนรังเกียจบ้าง เขียนบัตรสนเท่ห์ถึงผู้หลักผู้ใหญ่ ให้ไปสอบสวน เอ้า...สอบ ก็ไม่มีอะไร ก็คนมันไม่ได้ทำชั่วไม่ได้กระทำความผิด ตั้งใจแต่จะสร้างความงามความดี ให้เจริญก้าวหน้าแล้วเจริญขึ้นทันตา สิ่งทั้งหลายก้าวหน้า แต่ว่าคนบางประเภท เขาไม่ได้ประโยชน์จากความเจริญนั้น เมื่อได้ประโยชน์จากความเจริญนั้นก็หาทางตัด หาทางทำลายคนดีนั้น
นี่เขาเรียกว่าโรคริษยา โรคเห็นแก่ตัว กิเลสสองตัวนี้มันมาด้วยกัน เกิดเห็นแก่ตัวก่อน พอเห็นแก่ตัวก็ริษยาคนอื่น ไม่อยากให้คนอื่นดีกว่าตัด เจริญกว่าตัว ทำอะไรก็ต้องให้ตัวร่วมวงศ์ไพบูลย์ด้วย เพื่อจะได้แบ่งผลอะไรกันบ้าง ถ้าไม่แบ่งให้ก็หาทางทำลาย ให้คนนั้นออกไป แล้วจะได้เอาพวกของตัวขึ้นมาต่อไป อย่างนี้มันมีบ่อยๆ ตามที่ต่างๆ
ญาติโยมก็อาจถูกเรื่องอย่างนี้เหมือนกัน ถ้าทำงานเกี่ยวกับคนมาก เกี่ยวกับสังคม เช่น เป็นข้าราชการ หรือว่างานบริษัทห้างร้าน ถ้าดี ขึ้นไป เพื่อนก็คอยจ้องทำลาย เขาเรียกว่าไม่ชอบคนเด่น ไม่ชอบคนดี เพราะว่าคนเด่นคนดีมันล้ำหน้าเขา เขาไม่ให้ล้ำ พวกที่ไม่ใช้เพื่อนล้ำหน้านี้ก็คือ คนมีความเห็นแก่ตัว เป็นตัวแรก แล้วต่อไป ก็มีความริษยา เมื่อริษยาแล้วก็คิดทำลายต่อไป ทำลานให้ราบไปเลยทีเดียวให้เสียหายไป เรื่องทำลายกันนี่มันรุนแรง
ในสมัยพระพุทธเจ้าอยู่นั้น มีเรื่องที่ทำลายกันชนิดรุนแรงทีเดียวเรื่องมีอยู่ว่า นางมาคันทิยา เมื่อก่อนยังไม่ได้แต่งงาน เป็นสาวรูปสวยขนาดพอจะไปประกวดนางงามโลกได้ พ่อแม่ก็หยิ่งในความสวยของลูกมาก ใครๆ มาขอก็ไม่ให้ บอกว่าไม่คู่ควรกับลูกสาวของฉัน วันหนึ่งพ่อออกไปในป่า ไปพบพระพุทธเจ้า ไม่รู้ว่าเป็นพระพุทธเจ้า แต่เห็นว่ารูปร่างดี ก็นึกว่า นี่แหละ...คนนี้แหละคู่ควรกับลูกวาวเรา ก็บอกพระพุทธเจ้าว่า “อยู่นี่แหละ อย่าไปไหน ฉันจะไปเอาลูกสาวมาให้ ลูกสาวฉันนี่สวยมาก ใครๆ ก็อยากได้ แต่ฉันไม่ใช้ มาเห็นท่าน อยากจะให้แล้ว” พระพุทธเจ้าก็ยืนเฉยๆ ตาคนนั้นก็กลับไปบ้าน บอกภรรยาว่า “พบแล้วๆแหมหามานาน วันนี้พบแล้ว บอกลูกสาวแต่งตัวไวๆ จะพาไปพบคนทีจะเป็นคู่”
พอไปถึงตรงนั้น พระพุทธเจ้าหายไปแล้ว แอบอยู่ที่อื่นแล้ว แต่ท่านเหยียบรอยไว้ แม่ของลูกสาวพอได้เห็นรอยเท้าเข้า “โอ๊ย แกนี่มันไม่ได้เรื่องแล้วละ ไม่รู้จักลักษณะคนนี่ คนเท้าแบบนี้แหละเป็นคนไม่มีกิเลส เราจะเอาลูกไปให้เขาได้อย่างไร” ตาก็บอกว่า “แกละก็ เป็นคนช่างทำนายทำนายเหมือนเห็นจระเข้ในโอ่งน้ำทีเดียว” เห็นจาระเข้ในโอ่งน้ำก็ทายได้ว่า นี่จรระเข้นี่ เห็นชัดก็เพราะน้ำในโอ่งมันใส ภรรยาก็บอกว่า “คอยดูไปสิ เดี๋ยวก็เจอตัว” พากันไปหา ก็เจอพระพุทธเจ้า พอพบก็บอกว่า “นี่แหละ เอามาให้แล้ว”
พระพุทธเจ้าท่านทราบนิสัยตายายว่าเป็นดอกบัวที่พาไปได้ ไม่ใช่ดอกบัวใต้น้ำ ก็เลยบอกว่า “ลูกสาวของท่านที่ว่าสวยนั้นแหละ อย่างว่าฉันจะจับด้วยมือเลย แม้เอาเท้าแตะก็ยังไม่สมควร” ตากับยายฟังแล้วได้ปัญญาได้ความรู้ แต่ว่าลูกสาวฟังไม่รู้เรื่องอะไรเลย ที่ไม่รู้เรื่องเพราะความยึดมั่นในรูปของตัวว่าสวยเหลือเกิน งานเหลือเกิน พอได้ยิน พระพุทธเจ้าว่า อย่าว่าแต่เอามือแตะเลย เท้าก็ยังแตะไม่ได้ “แหม..เจ็บใจคนๆนี้ ว่าเราถึงขนาดนี้ เอาเถอะเราจะต้องพยาบาทอาฆาต ไม่ได้เป็นใหญ่เป็นโตขึ้นบ้างก็แล้วไป ถ้าฉันได้มีบุญวานาขึ้นเป็นใหญ่แล้วต้องเล่นงานผู้นี้แหละ ต้องเล่นงานกันแน่ๆ เลย” เกิดโกรธพระพุทธเจ้าแล้วพยาบาท เพราะความหลงผิด
ครั้นต่อมาก็จับพลัดจับผลูได้ไปเป็นพระสนมของพระเจ้าอุเทนแห่งกรุงโกสัมพี เลยก็มีบุญขึ้นแล้ว ก็รู้ว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาที่เมืองนั้น ก็สั่งคนให้ไปเที่ยวด่า ด่าที่นั่น ด่าที่นี่ พระพุทธเจ้าบิณฑบาตที่ไนก็จ้างคนไปเที่ยวด่า ด่าเรื่อยๆ ไป (เหมือนจางคนให้ด่าในสมัยหาเสียงนั้นล่ะ) ด่าเสียจนรำคาญ พระพุทธเจ้าท่านไม่รำคาญอะไร พระอานนท์ซิรำคาญ พระอานนท์เลยบอกว่าเมืองนี้ไม่ไหวเวลานี้ มีคนขี้ด่าเต็มบ้านเต็มเมือง เราถอยไปอยู่เมืองอื่นเถอะ
พระพุทธเจ้าว่า “จะไม่ไปไหนล่ะ อานนท์ ไปเมืองที่คนไม่ขี้ด่าอย่างเมืองนี้ แล้วไปเมืองนั้นเจอคนขี้ด่าอีกเล่าจะทำอย่างไร มิต้องหนีคนขี้ด่ามันตลอดเวลาเรอะ ตถาคตนี่ไม่ยอมหนีอย่างนั้น ตถาคตเป็นเหมือนกับข้างที่ออกสู่สงคราม เขายิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ ช้าก็ไม่ถอยหนีจะยืนสู้กับลูกศรจนกระทั่งว่าหมดลมหายใจ เหตุมันเกิดขึ้นที่ไหน ต้องให้ดับที่นั่น เหตุที่เกิดขึ้นที่เมืองนี้ ก็ต้องให้มันดับที่เมืองนี้ คนจะด่าพระคถาคตได้ก็ 7 วัน มันก็หยุดด่าเอง เพราะว่าเราไม่ได้ด่าตอบ เขาเหนื่อยหน่ายในการด่าเขาก็หยุดไปเอง เราจะต้องทน ต้องหนักแน่นต่อเหตุการณ์อย่างนี้” แล้วผลที่สุดเขาก็หยุดด่า พระองค์ก็ชนะสิ่งเหล่านั้นได้
พระเจ้าอุเทนมีพระมเหสีอยู่แล้ว ก็คือพระนางสมาวดี เป็นผู้ที่มีความสุภาพเรียบร้อย สมควารแก่ตำแหน่งพระราชินีทุกรประการ เป็นมาเหสีเอก มาคันทิยา เป็นมเหสีรอง นางคันทิยารู้ว่า พระสางสามาวดีเลื่อมใสในพระพุทธเจามาก เราเล่นงานพระพุทธเจ้าไม่ได้ ต้องแล่นงานลูกศิษย์ ก็เลยหาวิธีทำลายดวยประการต่างๆ
พระเจ้าอุเทนชอบดีดพิณ มีฝีมือในการดีดพิณ นางคันทิยาก็สั่งคนใช้ให้เอาพิณไปไว้ในห้องของพระนางสมาวดี เอางูพิษใส่ไว้ในพิณด้วยตัวหนึ่ง พระเจ้าอุเทนไปถึงก็ดีดพิณด้วยความสนุกสนาน เสียงพังหน่องแหน่งๆ งูมันรำคาญ ก็เลื้อยออกมา พองูเลื้อยออกมาพระองค์ก็ตกใจ ทิ้งพิณเลย พอทิ้งพิณก็โกรธ นางมาคันทิยาคอยแอบดูอยู่แล้ว พอพระเจ้าอุเทนวิ่งหนี ก็ออกมาทันที บอกว่า “นี่แหละหม่อมฉันห้ามแล้วว่าอย่าไปยุ่งกับ แม่ คนนี้ จะมีภัยอันตราย นี่เขาคิดจะทำบายพระองค์ เอางูพิษมาใส่ไว้ในพิณ” พระราชาหูก็ชักจะเอียงไปกับแม่คนสวยนั้น พอหูเอียงไปก็ชักจะโกรธๆ เลยไม่เสด็จไปหานางสามาวดี
นางคันทิยายังหาเรื่องอีกหลายอย่างหลายประการให้เพระเจ้าอุเทนไม่พอพระทัยพระนางสามาวดี
คราวหนึ่งพระเจ้าอุเทนเสด็จไปคล้องช้างในป่า ไปหลายวัน นางคันทิยาก็จัดแงให้คนใช้ เข้าไปเตรียมเผาปราสาทพระนางสามาวดีคือเข้าไปทำค่าท่าตกแต่ง ปราสาทมันเก่าแล้ว จะชัดจะถู จะทำความสะอาดแต่ว่าเอาน้ำมนเชื้อเพลิงไปทาไว้ ทาเสาทาฝา ทาไว้ทุกหนทุกแห่ง พอได้เวลาก็จุดไฟ เผาเลย เผาปราสาท พระนางสามาวดี กับบริวารก็ถูกไฟคลอกหมด ไม่เหลือเลยสักคนเดียว
พอพระเจ้าอุเทนเสด็จกลับมา นางมาคันทิยาก็กราบทูลเรื่องให้ทราบ พระเจ้าอุเทนท่านฉลาด ไหวพริบดีมาก พอได้ฟังอย่างนั้นก็บอกว่า “แหม! ใครหนอทีทำให้นางสามาวดีตายนี่ ฉันสบายใจเหลือเกิน เพราะว่าฉันรำคาญมานานแล้วกับแม่คนนี้ ไม่รู้จะทำอย่างไร ช่วยทำให้ตาย นี่ฉันสบายใจ ฉันอยากจะรู้เหลือเกินว่าใครเป็นเจ้ากี้เจ้าการในเรื่องนี้จะได้ปูนบำเหน็จรางวัลให้สาสม กับความดีความชอบเชียวแม่เอ๊ย”
นางมาคันทิยาก็เสนอตัวก่อนเพื่อน “หม่อมฉันเองแหละเพคะ พี่จัดการเรื่องนี้” บริวารหญิงก็บกว่า “หม่อมฉันด้วยเพคะ หม่อมฉันด้วยเพคะๆ” ไอ้บริวารผู้ขายก็บอกว่า “เกล้ากระหม่อมด้วยพะย่ะค่ะ” พวกอยากตายเยอะเยะ เข้าไปกราบทูลให้ทรงทราบว่า “หม่อมฉัน ๆ” ไอ้คนที่อยากได้ความชอบนี่ เขาเรียกว่ามันหลง เขาเอาความดีมาล่อเลยหลงไป เหมือนกับล่อให้กินขนาม หรือว่าปลาติดเบ็ด
พระเจาอุเทนก็รับสั่งว่า “เออดีแล้ว ท่านทั้งหลายได้กระทำเรื่องอย่างนี้ ฉันจะให้รางวัลอย่างงาม” สั่งทหารไปขุดหลุมพอจำนวนคนเหล่านั้น เสร็จแล้วก็ฝัง โผล่แต่คอ มีนางคันทิยาเป็นหัวหน้าเรียกว่าหลุมแรกนั่นแหละ ฝังเสร็จแล้วเอาช้างมาเหยียบ แล้วเอาไถมาไถชนคอไป พวกนั้นก็ตายเรียบร้อยไปเลยทีเดียว
คนเราก็เหมือนกันนั้นแหละ อยู่ร่วมกันมา บางทีผลประโยชน์ขัดกัน ก็คอยทำลายกัน ด้วยความริษยา ผู้คนมาคุยบ่อยๆ ว่าทำงานกับเพื่อนฝูงนี่ บางคนเขาริษยา ก็บอกว่าอย่าไปสนใจในความริษยาของใครๆ เราตั้งหน้าตั้งตาทำงานไป ทำไม่รู้ไม่ชี้ ในความริษยาของคนเหล่านั้น แล้วก็เอาดีเข้าว่า พอเห็นหน้าเขาก็เข้าไปทักทายปราศรัย มีอะไรก็แบ่งให้เขากิน ให้เขาใช้ เอาชนะกันด้วยความดี อย่าไปแสดงอาการโกรธ อาการเกลียดต่อคนนั้น เอาความดี เอาความเย็นเข้าสู้กับคนเหล่านั้น
บ่างคนก็รับเอาไปปฏิบัติแต่บางคน “แหม มันยากเจ้าค่ะ ทำอย่างนี้มันยาก มนเคืองกันมานานแล้ว” ก็แก้เสียใหม่ซิ แก้เรื่องโกรธเป็นเรื่องที่ไม่โกรธเสีย แก้เรื่องเกลียดให้กลายเป็นเรื่องรัก แก้เรื่องริษยาให้กลายเป็นเรื่องมุทิตาไป พลอยยินดีกับเขาเสียบ้าง คิดว่าคนที่มาทำลายเราเป็นคนที่น่าสงสาร เขาเป็นโรค...โรคทางจิต พวกจิตทราม จิตเสื่อมนั่นแหละ อย่าไปโกรธอย่าไปเกลียดคนเหล่านั้น แต่ควรจะนึกว่าสงสารเหลือเกินทำไมจิตใจเขาจึงเป็นอย่างนั้น แล้วเราก็ควรคิดต่อไปว่า ทำอย่างไรจะช่วยคนนั้นให้หายโรคอย่างนี้เสียได้บ้าง ต้องหาวิธีแก้คนเหล่านั้น ด้วยความดีความชอบของเรา เอาความดีเข้าสู้ เอาชนะกันด้วยความดี อันนี้เรียกว่า วิธีแก้ที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในทางพระพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าตรัสว่า
“พึงชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ
ชนะความชั่วด้วยความดี ชนะคนตระหนี่ด้วยการให้
ชนะคนปากพล่อยด้วยการพูดความจริง”
วิธีชนะของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ชนะกันด้วยตาต่อตา ฟันต่อฟัน ดาบต่อดาบ หมัดต่อหมัด อย่างนี้ไม่ได้ มันตายทั้งคู่ ถ้าชนะอย่างนั้นมันตายทั้งคู่แล้ว เราจะตายทำไม เราเกิดมาแล้วเราควรจะอยู่ต่อไป จะได้ทำประโยชน์ต่อไป เราจะไม่ทำอย่างนั้น เราจะสู้ด้วยความดี
สมัยนี้คนชั่วยังไม่รู้ตัวชั่ว ทำไมไม่รู้ เพราะว่าเขาไม่เคยเอากระจกไปส่งตัวเอง กระจกธรรมนี่เขาไม่ใช้ เขาใช้กระจกที่ขายในตลาดส่องดูหน้าดูตา ไม่เอากระจกธรรมไปส่อง ไม่อ่านหนังสือธรรม ไม่ฟังธรรมะ ไม่เข้าใกล้พระ เป็นพวก “ดอกบัวใต้น้ำ” ที่จะเน่าเป็นเหยื่อเต่าเหยื่อปลาอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าเราค่อยๆ ดึงเขาให้เป็น”บัวพ้นน้ำ” เพื่อจะให้เขาได้เป็นผู้เป็นคนกับเขาบ้าง จะได้เป็นประโยชน์แก่สังคมต่อไป
สภาพจิตใจคนมันเปลี่ยนได้ อย่าเข่าใจว่าเปลี่ยนไม่ได้ อย่าเข้าใจว่า สันดอนขุดได้ สันดานขุดไม่ได้ มันขุดได้ทั้งสองอย่าง สันดอนก็ขุดได้ สันดานก็ขุดได้ แต่ว่าสันดอน เขาใช้เรือขุด สันดานี่ต้องใช้ปัญญาเป็นเครื่องขุด ขุดตัวเรา แก้ไขตัวเราด้วยการมองตัวเราให้มันเจนแจ่มแจ้ง ให้รู้ว่าสภาพจิตใจเราเป็นอย่างไร มีอะไรควรปรับปรุงควรแก้ไขทำให้ดีขึ้น แล้วเราก็พยายามปรับปรุงแก้ไขคนอื่นที่มีสภาพจิตใจอย่างนั้นเราก็หาวิธีเล่าเรื่องอะไรให้เขาฟังบ้าง เล่าไปทางอ้อมๆ หาวิธีการให้เขารู้สึกที่เรียกว่า “ตีวัวกระทบคราด” คือเอาเรื่องใครๆ มาเล่าให้เขาฟัง แล้วก็บอกว่าเขาได้เปลี่ยนชีวิตจิตใจไปอย่างนั้นอย่างนี้ มีความรู้สึกนึกคิดที่ถูกต้องขึ้น คนนั้นก็จะได้คิดบ้างในเรื่องอย่างนั้น
หลักการนี้บางสมาคมเขาเคยใช้ คือ เขาถือว่าคนมาก ก็เอาคนมากไปเปลี่ยน เช่นว่า จะไปกลับใจใครสักคนหนึ่ง ให้เป็นคนดี เขาไปกันหลายคน แล้วก็ผลัดกันพูด นาย ก. พูดอย่างนี้ นาย ข. พูดอย่างนี้ นาย ค.พูดอย่างนี้ นาย ง.พูดอย่างนี้ล้อมงงกันแล้วพูดให้คนนั้นคนเดียวฟัง คนนั้นมีความรู้สึกเหมือนกับว่าถูกเป่าถูกเสก จิตใจมันก็ค่อยโน้มไป เกิดความคิดขึ้นมาว่า “เอ คนหลายคนเขาก็คิดอย่างนั้น เขามีแนวอย่างนั้น แต่ว่าแนวเรามันไม่เหมือนเขา เรามันเกะกะระราน มีความไม่ซื่อ ไม่มีการบังคับตัวเองควบคุมตัวเอง ทำอะไรในสิ่งเหลวไหล” คนนั้นก็ค่อยเปลี่ยนไป ต่อมาก็ชวนไปที่สมาคม ชวนไปกินข้าวร่วมกน เวลากินข้าวเขาก็คุยกัน เขามีจุดมุ่งไปที่คนนั้นคนเดียว ไอ้คนนั้นปากก็กินอาหารแต่ว่าหูก็กินเสียงที่เขากำลังพูดอยู่ด้วย คลุกคลีไปคลุกคลีมา กลับสารภาพออกมาว่า “แหม...ผมนี่เลวมาก ได้กระทำความผิดอย่างนั้น เป็นเผด็จการในครอบครัว มีอำนาจเด็ดขาดทุกอย่าง แม่บ้านหือไม่ขึ้น ลูกทุกคนก็ไม่ได้ เขาเล่าให้ฟัง แล้วก็ยังเล่าเรื่องอื่นที่ทำไม่ดีอีกหลายอย่างเลยเปลี่ยนไปกลายเป็นคนเรียบร้อยดีงาม แล้วไปเล่าให้ใครๆ ฟังว่าผมเมื่อก่อนมันแย่ แต่ว่าเมื่อมาเข้าสู่สมาคมนี้แล้วเกิดความสำนึกรู้ผิดชอบชั่วดี ได้เปลี่ยนแปลงจิตใจไป
คนเรานี่ถ้าว่าใกล้อะไรก็จับเกาะสิ่งนั้น เหมือนเถาไม้เลื้อย อยู่ใกล้ต้นไม้มันก็เกาะต้นไม้ จิตใจคนนี่ก็อย่างนั้นแหละ อยู่กับคนชั่วมันก็เกาะความชั่ว อยู่กับคนดีมันก็เกาะความดี อยู่กับคนโง่ก็เกาะความง่าของคนนั้น ถ้าอยู่ใกล้คนฉลาดมันก็ไปจับเอาความฉลาดของคนนั้นมาใช้ เราจะต้องช่วยเขา ให้ได้อยู่ใกล้บัณฑิต ใกล้ผู้รู้ ใกล้ผู้ฉลาด เขาจะได้เลียนแบบสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาบ้าง
ตัวเราเองก็เหมือนกัน ต้องคอยเตือนตัวเองว่า เราจะสร้างแบบแผนที่ดีงามแก่คนอื่นไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน อยู่ในครอบครัว อยู่ในสังคม ในงานในการต่างๆ เราจะแสดงแบบแผนที่ดีงามให้คนอื่นเห็น อย่าแสดงแต่วัตถุภายนอก แสดงความคิดจิตใจให้ออกมาที่หน้าตา ที่คำพูด ที่การเคลื่อนไหวของอิริยาบถ
ทุกคนต้องไม่ลืมว่า เรามีหน้าที่ที่จะทำตนให้เป็นมนุษย์ คือให้เป็นผู้มีใจสูง อย่าเป็นผู้อยู่อย่างคนใจต่ำ ให้เอยู่เหมือนดอกบัว ซึ่งเกิดในสระน้ำ น้ำไม่เปื้อนดอกบัว โคลนไม่เปื้อนดอกบัว ดอกบัวเป็นดอกไม้สะอาด ถึงจะอยู่ในที่สกปรก ไม่เศร้าหมอง ฉันนั้นเหมือนกัน
สังคมเราเวลานี้ ผู้ประพฤติธรรมต้องร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสรรค์โลกให้สงบ ให้สวยงาม น่าอยู่ ไอ้ผู้ไม่ประพฤติธรรมมันก็รวมกันอยู่เหมือนกัน รวมมันคดโกง รวมกันไปปล้น รวมกันไปในทางฉิบหาย สกปรกเลอะ เทอะไม่ได้เรื่องอะไร
เรามารวมกันเพื่อต่อต้านสิ่งชั่วร้ายที่อยู่ในจิตใจของคน ให้คนนั้นมีจิตใจผ่องใส สะอาดปราศจากสิ่งโสโครก เหมือน “บัวพ้นน้ำ” พร้อมจะบานรับแสงอาทิตย์
เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะชักจูงเพื่อนฝูงมิตรสหายให้ได้เข้าหาธรรมะ ให้ได้เดินในทางที่ถูกที่ชอบ อย่าไปจูงเพื่อนเข้าไปสู่ทางแห่งอบาย ให้เดินไปในทางธรรมะช่วยกันทำอย่างนี้ สังคมก็จะดีขึ้นเจริญขึ้น มีแต่ความสงบ ทุกคนก็ได้รับความสุขทั่วหน้ากัน
ที่มา : ส.ค.ส. 2552 (ท่านพุทธทาส)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น